ความสัมพันธ์ ไทย-อียิปต์

ความสัมพันธ์ ไทย-อียิปต์

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 25,089 view

ความสัมพันธ์ไทย-อียิปต์

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ประเทศไทยและสาธารณรัฐอียิปต์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๗ ความสัมพันธ์ครบรอบ ๖๐ ปี เมื่อปี ๒๕๕๗ โดยอียิปต์ถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาหรับที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอียิปต์ดำเนินมาอย่างราบรื่นและก้าวหน้ามาตามลำดับ ต่างฝ่ายไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ และความร่วมมือในระดับภูมิภาค

ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐซูดาน  สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย และสาธารณรัฐจิบูตี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ อนุมัติแต่งตั้งให้นายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร และฝ่ายอียิปต์มีสถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย คือ นางลัยลา อะห์มัด บะฮาอุดดีน (Laila Ahmed Bahaa Eldin)


การเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียิปต์ ดำเนินมาอย่างราบรื่นและก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยทั้งสองฝ่ายมีกลไกความร่วมมือระดับทวิภาคีหลัก ๆ ได้แก่

(๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับอียิปต์ (Thai – Egyptian Joint Commission) ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีการประชุมมาแล้ว ๒ ครั้ง (ปี ๒๕๔๖ ที่กรุงไคโร และปี ๒๕๔๙ ที่กรุงไคโร)

(๒) การประชุม Political Consultations ระดับรองปลัด / ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยและอียิปต์ ซึ่งมีการประชุมมาแล้ว ๕ ครั้ง (ปี ๒๕๔๗ ที่กรุงเทพฯ / ปี ๒๕๔๙ ที่กรุงไคโร / ปี ๒๕๕๑ ที่กรุงเทพฯ / ปี ๒๕๕๓ ที่กรุงเทพฯ และปี ๒๕๕๙ ที่กรุงไคโร)

ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติและองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) และในระดับภูมิภาค เช่น กรอบความร่วมมือเอเชีย – ตะวันออกกลาง (Asia – Middle East Dialogue – AMED) และอียิปต์ได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia – TAC) เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙

 

การค้า

ปี ๒๕๖๑ ไทยและอียิปต์มีปริมาณการค้ารวม ๑,๐๑๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยคิดเป็นการส่งออก ๙๔๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า ๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า ๘๗๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปอียิปต์ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากอียิปต์ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน ผัก-ผลไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ด้ายและเส้นใย

การลงทุน

ไทยมีการลงทุนที่สำคัญในอียิปต์ เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกในอียิปต์ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท Egyptian Indian Polyester S.A.E. (EIPET) มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ดานพลาสติก  และต่อมาเมื่อพฤศจิกายน 2561 ได้ซื้อหุ้นจากบริษัท Medco Plast จำกัด ของอียิปต์ร้อยละ 74 เป็นจำนวนเงิน 47.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตหีบห่อบรรจุภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส จำกัด(PTT Energy Resources Co. Ltd. – อุตสาหกรรมพลังงาน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท อีส เมดิเตอร์เรเนียน ก๊าซ (East Mediterranean Gas Co. Ltd. – อุตสาหกรรมพลังงาน) ร้อยละ ๒๕ มูลค่า ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติอียิปต์ (Egyptian General Petroleum Corp. – อุตสาหกรรมพลังงาน) และบริษัทก๊าซธรรมชาติแห่งชาติอียิปต์ (Egyptian Natural Gas Holding Co. Ltd. – อุตสาหกรรมพลังงาน) เพื่อส่งออกไปยังอิสราเอล อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน บริษัทฯ ประสงค์จะขายหุ้นทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถส่งก๊าซมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จากการที่รัฐบาลอียิปต์ยกเลิกสัญญาการส่งก๊าซให้แก่อิสราเอล นอกจากนี้ บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) เคยได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตน้ำมันในอียิปต์ แต่ในปี ๒๕๕๔ ได้ขอคืนสัมปทานทั้งหมด เนื่องจากการดำเนินงานมีความล่าช้าเพราะพื้นที่สัมปทานอยู่ในเขตทหาร  

ฝ่ายอียิปต์มีการดำเนินกิจการด้านต่าง ๆ ในไทย เช่น บริษัทนำเที่ยว และธุรกิจร้านอาหารอียิปต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ข้อมูลในไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙ มูลค่าการลงทุนของอียิปต์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวม ๕.๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การท่องเที่ยว

ในปี ๒๕๖๐ มีนักท่องเที่ยวชาวอียิปต์เดินทางมาไทย ๒๔,๐๙๖ คน และคนไทยเดินทางไปสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประมาณ ๑๗,๕๒๗ คน สายการบินอียิปต์แอร์ (Egypt Air) มีเที่ยวบินตรง มายังกรุงเทพฯ จำนวน ๓ เที่ยวต่อสัปดาห์

สังคมและวัฒนธรรม

ไทยและอียิปต์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๑๙ เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยมีการส่งคณะนักแสดงพื้นบ้านเข้าร่วมงานเทศกาลพื้นบ้านนานาชาติของอียิปต์ และเมื่อปี ๒๕๕๖ สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยร่วมกับ National Centre for Child’s Culture ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมอียิปต์ จัดการประกวดวาดภาพในหัวข้อ “ประเทศอียิปต์ในสายตาของเยาวชน” และการประกวดผลิตภัณฑ์ของเล่นที่ทำด้วยมือ เพื่อใช้ศิลปะส่งเสริมภาพลักษณ์และความเข้าใจอันดีระหว่างอียิปต์กับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประชาชน

เมื่อปี ๒๕๕๗ กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ประเทศอียิปต์ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรมในวาระครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ความร่วมมือทวิภาคี

ด้านการศึกษา

อียิปต์เป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามอันดับต้นของโลกมุสลิม จึงเป็นที่นิยมของนักศึกษาไทยมุสลิม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของประเทศไทยหลายแห่งมีโครงการความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) มหาวิทยาลัยไคโร (Cairo University) และมหาวิทยาลัย  ๖ ตุลาคม (6th October University) ของอียิปต์ โดยมีความร่วมมือด้านวิชาการและการส่งอาจารย์จากอียิปต์มาสอนในมหาวิทยาลัยของไทย

ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยมุสลิมศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของอียิปต์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร รวมประมาณ ๓,๕๐๐ คน โดยในแต่ละปี มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยมุสลิมปีละ ๘๐ ทุน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ยังได้จัดส่งครูมาสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้บริจาคเงินปีละ ๑ ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาไทยด้วย

ด้านวิชาการ

ไทยและอียิปต์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาระหว่างกัน เมื่อปี ๒๕๕๕ ปัจจุบัน ไทยให้ความร่วมมือในโครงการทำปะการังเทียมเพื่อการพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในเขตทะเลแดงตอนใต้ของอียิปต์ และไทยจัดการฝึกอบรมให้แก่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา รวมถึงอียิปต์ ในสาขาต่าง ๆ อาทิ เกษตร สาธารณสุข การพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยว เป็นต้น

อียิปต์ให้ทุนฝึกอบรมด้านเกษตรกรรมแก่ประเทศไทย โดยเน้นสาขาเกษตร ประมง และสัตวบาล ประมาณปีละ ๑๐ ทุน

ด้านกงสุลและแรงงาน

มีคนไทยในอียิปต์ประมาณ ๓,๗๐๐ คน โดยเป็นนักศึกษาไทยมุสลิมประมาณ ๓,๕๐๐ คน ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นพนักงานนวดและสปา พ่อครัว และผู้ที่สมรสกับชาวต่างชาติ

ความตกลงที่สำคัญกับไทย

ความตกลงที่ลงนามแล้ว ๑๑ ฉบับ

       ๑. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาศาสตร์
ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๙)

       ๒.    บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตารางเส้นทางการบินในข้อ ๒
ของบันทึกความเข้าใจเรื่องการให้บริการเดินอากาศระหว่างผู้แทนไทยและอียิปต์ ฉบับลงวันที่
๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๘ (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๓)

       ๓.    ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล
แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๗)

       ๔.    ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาล
แห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๐)

       ๕.  หนังสือแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๑)

       ๖.    ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๑)

       ๗.    หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือ
ทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนาม
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๒)

       ๘.    ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓)

       ๙.    พิธีสารการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ
แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่
๓๐ มกราคม ๒๕๔๖)

       ๑๐. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับ
ภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๙)

       ๑๑. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕)

 

การเยือนที่สำคัญ

            ฝ่ายไทย

                       (๑) การเยือนระดับพระราชวงศ์

                             พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

        วันที่ ๑๒ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
อย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ 

                            สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

        วันที่ ๑๗ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๐ เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
อย่างเป็นทางการ

                             สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

        - วันที่ ๕ – ๑๕ มกราคม ๒๕๓๓ เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
อย่างเป็นทางการ

        - วันที่ ๘ – ๑๓ มกราคม ๒๕๓๖ เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
อย่างเป็นทางการ

                             สมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

   เดือนธันวาคม ๒๕๔๘ เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นการส่วนพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา นเรนธิราเทพยวดี

        วันที่ ๗ – ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
เป็นการส่วนพระองค์

                            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

        วันที่ ๒๐ – ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
เป็นการส่วนพระองค์

การเยือนระดับรัฐบาล

                            นายกรัฐมนตรี

        มีนาคม ๒๕๓๐ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

        - วันที่ ๒๙ - ๓๐ มกราคม ๒๕๔๖ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วม
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย - อียิปต์ ครั้งที่ ๑

        - วันที่ ๒๘ - ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วม
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย - อียิปต์ ครั้งที่ ๒

        - วันที่ ๑๗ - ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐ นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

        - วันที่ ๑๕ - ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งอียิปต์เป็นเจ้าภาพ

        - วันที่ ๒๐ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

        - วันที่ ๒๑ กันยายน 2559 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม Political Consultations ไทย-อียิปต์ ครั้งที่ ๕

                             รัฐมนตรีกระทรวงอื่น ๆ

                                    - วันที่ ๑๐ – ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อหารือแนวทางให้การช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนไทยในอียิปต์

                                    - วันที่ ๔ - ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อร่วมกิจกรรมฉลองครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอียิปต์

                            (๒) การเยือนของบุคคลสำคัญอื่น ๆ

                                   ปี ๒๕๔๒ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมศาสนาอิสลาม

ฝ่ายอียิปต์

        การเยือนระดับรัฐบาล

                       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 - ปี ๒๕๓๙ นายอัมร์ มูซา (Amr Moussa) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศอียิปต์ เยือนไทย

 - วันที่ ๑๓ - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ นายเอสซาด ซาอัด (Ezzat Saad)
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ฝ่ายกิจการเอเชีย เยือนไทยในฐานะ
แขกของกระทรวงการต่างประเทศ

                       (๒) การเยือนของบุคคลสำคัญอื่น ๆ

      - วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๔๗ เชค อะห์หมัด อัล ตอยยิบ
(Sheikh Ahmed Al-Tayeb) อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร เดินทางเยือนไทยในฐานะ
แขกของรัฐบาล

          - วันที่ ๒๓ - ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ นายมูฮัมหมัด ซัยยิด ตันตาวี (Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) (เทียบเท่าระดับนายกรัฐมนตรี) เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล

 - วันที่ ๒๐ - ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายอับบาส ชูมาน (Abbas Shoman)
รองผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

 - วันที่ ๓ - ๙ เมษายน ๒๕๖๐ ศาตราจารย์ ดร. เชาว์กี อิบราฮีม อับเดลการีม โมซา อัลแลม (Shawki Ibrahim Abdelkarim Mosa Allam) ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม (Grand Mufti) ของอียิปต์ เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ