ความสัมพันธ์ ไทย-ซูดาน

ความสัมพันธ์ ไทย-ซูดาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,990 view

ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ทั่วไป 

1. ด้านการทูต

ไทยและซูดานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศซูดานอียิปต์ จิบูตี และเอริเทรียนอกจากนี้ เมื่อปี 2559 รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้นายอะห์มัด บาเชียร์ เอลเนอเฟดี (Ahmed Bashir Elnefeidi) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม ขณะที่ฝ่ายซูดานได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซูดานประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยมีนางซานา ฮะมัด อะลาวัด กูราฟี (Sanaa Hamad Alawad Gourafi) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซูดานประจำประเทศไทย   

2. ด้านเศรษฐกิจ

ภาพรวม

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย- ซูดานดำเนินไปด้วยดี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซูดานจะมีไม่มากนัก แต่ยังมีโอกาสและศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากซูดานมีความต้องการซื้อสินค้าจากไทยในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การค้าส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านประเทศที่สาม ดังนั้น หากมีการติดต่อซื้อขายระหว่างกันได้โดยตรงก็จะช่วยให้ต้นทุนของสินค้าลดลงและสามารถเพิ่มปริมาณสินค้าไทยในซูดานได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในซูดานได้อีกมาก เพราะไทยมีแรงงานและช่างฝีมือที่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการก่อสร้างและบริการที่กำลังขยายตัวอย่างมาก นอกจากนี้ ซูดานยังมีศักยภาพเป็นตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทย เนื่องจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของซูดานต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและคงทนถาวร มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนและที่สำคัญต้นทุนไม่สูงมากเท่าสินค้าจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา

2.1 การค้า

ในปี 2559 ไทยและซูดานมีมูลค่าการค้ารวม 61.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทยส่งออก58.98ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 56.67ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังซูดาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากซูดาน ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธ์เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

2.2 การลงทุน

ระหว่างปี 2546–2554บริษัทเอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (EGCO Engineering and Service Company Limited - บริการด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาอุตสาหกรรมต่าง ๆ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสัญญาว่าจ้างจากรัฐบาลซูดานจำนวน 4 ฉบับ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ให้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าและฝึกอบรมบุคลากรของการไฟฟ้าแห่งประเทศซูดาน (National Electricity Corporation of Sudan - NEC) ปัจจุบันมี SMEs ไทยดำเนินธุรกิจร้านนวดแผนไทยในซูดาน

3. ความร่วมมือทางวิชาการ

กรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมและการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรซูดานในสาขาต่าง ๆ ที่ซูดานต้องการและไทยมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์ สาธารณสุข การศึกษาและการท่องเที่ยว อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549อาทิ การให้ทุนการศึกษาระยะสั้น (Annual International Training Course – AITC) และระยะยาว (Thailand International Postgraduate Programme – TIPP) รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างไทย – ญี่ปุ่น – ซูดาน เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจัดตั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลนำร่องในเขตคาร์ทูม

4. การท่องเที่ยว

ในปี 2559 นักท่องเที่ยวซูดานเดินทางมาไทยจำนวน 7,150 คน (จากประชากรของประเทศที่มีจำนวน 41.17 ล้านคน) แต่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปซูดาน

5. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

- ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วมในภารกิจสหประชาชาติในซูดาน (United Nations mission in Sudan: UNMIS) เพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหาร นอกจากนี้ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารรายบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายอำนวยการในภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติในดาร์ฟูร์ (AU/UN Hybrid operation in Darfur: UNAMID) และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมกองพันทหารราบ จำนวน 1 กองพันเพื่อเข้าร่วมในภารกิจ UNAMID 

- สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้ส่งคณะสำรวจเพื่อจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการฝึกอบรมระหว่างไทยและซูดานทางด้านเกษตรกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝ่ายซูดาน 

 
6. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย

อยู่ระหว่างการพิจารณาความตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ และบันทึกความเข้าในด้านสาธารณสุข  

7. การเยือนของผู้นำระดับสูง

7.1 ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์ ยังไม่มีการเสด็จฯ เยือน

รองนายกรัฐมนตรี

        เมื่อวันที่ 19-21 มกราคม 2549 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนซูดานอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุม Executive Council ของสหภาพแอฟริกา (African Union – AU)

รัฐมนตรี

-  เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เยือนซูดาน
อย่างเป็นทางการ

-  เมื่อวันที่ 19-20 เมษายน 2550 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนซูดานอย่างเป็นทางการ

-  เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2557 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยือนซูดานอย่างเป็นทางการ

7.2 ฝ่ายซูดาน

ประธานาธิบดี ยังไม่มีการเยือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

-  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 นายมุสฟา อุสมาน อิสมาเอล (Dr. Mosfa Osman Esmael) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดาน แวะพักเปลี่ยนเที่ยวบินที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางไปเมืองดูไบ

-  เมื่อวันที่ 13-16 สิงหาคม 2549 นายลาม อะกอล อะจาวิน (Mr. Lam Akol Ajawin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดานเยือนประเทศไทย