ความสัมพันธ์ ไทย-จิบูตี

ความสัมพันธ์ ไทย-จิบูตี

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 10,026 view

สาธารณรัฐจิบูตี

ภูมิหลังทางการเมือง

จิบูตีเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ (ค.ศ. ๑๙๖๗) โดยใช้ชื่อว่า ดินแดน Afars and Issas ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มชนพื้นเมืองในจิบูตีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองในเอธิโอเปีย (Afar) และโซมาเลีย (Issa)  โดยได้รับเอกราชเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) โดยมีนายฮัซซาน กูเลด อัพทิดง (Hassan Gouled Aptidon) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของจิบูตี โดยปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรค Rassemblement Populaire pour le Progrès (RPP) ซึ่งมีสมาชิกเป็นชนพื้นเมืองโซมาเลีย (Issa) เท่านั้น เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่พอใจและความขัดแย้งของสองชนเผ่า ต่อมาความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านที่ต่อมาได้จัด ตั้งพรรค Front pour la Restauration de l’Unité et de la Démocratie (FRUD) ของชนพื้นเมืองเอธิโอเปีย (Afar) ขึ้น

ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๗ (ค.ศ. ๑๙๙๔) ความขัดแย้งได้คลี่คลายลง เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ลงนามสันติภาพกับพรรค FRUD และให้ผู้นำพรรค FRUD เข้าดำรงตำแหน่งในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกจำนวนหนึ่งของพรรค FRUD ไม่เห็นด้วยกับการประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรค FRUD ขึ้น ในขณะเดียวกับที่พรรค RPP ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลสามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้สำเร็จ

หลังจากนั้น ในปี ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น โดยพรรค RPP ได้มอบหมายให้นายอิสมาอีล โอมาร์ เกเลห์ ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนเดิมที่มีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเวลาต่อมา และในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔ (ค.ศ. ๒๐๐๑) นายอาห์เมด ดินิ (Ahmed Dini) ผู้นำทางทหารของพรรค FRUD ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งทั่วไปต่อไป

นายเกเลห์ ปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและเฉียบขาด โดยใช้ระบบอุปถัมภ์ ควบคุมรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และกองทัพ ปิดกั้นการเสนอข่าวของสื่ออย่างเสรี และใช้อำนาจรัฐกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายค้านและประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถต้านทานอำนาจของ  นายเกเลห์ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ (ค.ศ. ๒๐๑๑) ประชาชนชาวจิบูตีประมาณ ๓๐๐ คน รวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการยกเลิกการจำกัดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี แต่ก็ไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี ๒๕๔๘ (ค.ศ. ๒๐๐๕) และ ปี ๒๕๕๔ (ค.ศ. ๒๐๑๑) พรรคการเมืองฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขัน ส่งผลให้นายเกเลห์ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นทั้ง ๒ ครั้ง และในปี ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) นายเกเลห์ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๘๗ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารย์ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านถึงความไม่โปร่งใสและมาตรการจำกัดการหาเสียงของพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทำให้ปัจจุบัน นายเกเลห์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ ๔ ติดต่อกัน

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

๑.     ความสัมพันธ์ทั่วไป

          ไทยและจิบูตีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๙ ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมจิบูตี อียิปต์ ซูดาน และ เอริเทรีย โดยนายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐

          รัฐบาลจิบูตีได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจิบูตีประจำประเทศญี่ปุ่นมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตจิบูตีประจำประเทศไทยคนปัจจุบันชื่อ นายอาห์เมด อาเรตา อาลี (Ahmed Araita Ali) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว และได้แต่งตั้งให้นายฮงฑ์ทัย แซ่ตัน เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐจิบูตีประจำประเทศไทย

        ๑.๑ การเมือง

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับจิบูตีดำเนินเป็นไปด้วยความราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดรัฐบาลจิบูตีไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อปี ๒๕๕๗

       ๑.๒  การค้า

             ในปี ๒๕๕๙ ไทยและจิบูตีมีปริมาณการค้ารวม ๓๒.๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นการส่งออก ๓๒.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า ๐.๐๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลทางการค้า ๓๒.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

             สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจิบูตี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องซักผ้า และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากจิบูตี ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก สิ่งพิมพ์

     ๑.๓ การลงทุน

             ไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

       ๑.๔ การท่องเที่ยว

             ไม่ปรากฏข้อมูลการท่องเที่ยวระหว่างกัน

       ๑.๕ ความร่วมมือทวิภาคี

              ๑.๕.๑  ความร่วมมือทางวิชาการ

                          ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของจิบูตีในหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข โดยได้เชิญผู้แทนจากจิบูตีมาเข้าร่วมการฝึกอบรมตามโครงการต่าง ๆ ที่ไทยจัดขึ้น อาทิ

                               -  กิจกรรมดูงานในหัวข้อ AIDS Prevention and Problem Alleviationที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑ - ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗

                               -  จัด Workshop on Comprehensive Response to HIV/AIDS Prevention Care ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดขึ้นสำหรับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) ที่กรุงไนโรบี ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการกับปัญหา HIV/AIDS

                               -  รัฐบาลไทยได้จัดโครงการดูงานด้านการขจัดความยากจนให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจิบูตี จำนวน ๕ คน ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

                               -  จัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ให้แก่ฝ่ายจิบูตี

                               -  จัดหลักสูตร Malaria Prevention and Control ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓

                               -  จัดหลักสูตร Sustainable Development in Developing Country: Thailand Model for Africa ระหว่างวันที่ ๓ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยกรมความร่วมมือฯ อยู่ระหว่างรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจากจิบูตี

              ๑.๕.๒  ความช่วยเหลือจากเหตุการณ์ภัยแล้ง

                        เมื่อปี ๒๕๕๔ จิบูตีเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ที่ประสบภัยแล้ง โดยมีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ ๑ แสนคน รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือจำนวน ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านโครงการอาหารโลก (World Food Programme - WFP) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในบริเวณดังกล่าว ซึ่งรวมถึงจิบูตีด้วย           

              

.   ความตกลงที่สำคัญ

     ความตกลงที่ได้ลงนามแล้ว ๒ ฉบับ

       ๒.๑    ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล
แห่งสาธารณรัฐจิบูตี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗)

       ๒.๒    ความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจิบูตี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗)

 

๓.   การเยือนที่สำคัญ

      ๓.๑   ฝ่ายไทย

              ยังไม่ปรากฏการเยือนจิบูตีของฝ่ายไทย

      ๓.๒   ฝ่ายจิบูตี

              การเยือนระดับรัฐบาล

            ประธานาธิบดี

             - วันที่ ๒๖ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นายอิสมาอีล โอมาร์ เกเลห์ (Ismaïl Omar Guelleh) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจิบูตี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ณ พระราชวังไกลกังวล

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

               - วันที่ ๗ - ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ นายอาลี อับดี ฟาราห์ (Ali Abdi Farah)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจิบูตี นำคณะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗

            - วันที่ ๑๒ - ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ นายมาห์หมุด อาลี ยูซุฟ (Mahmoud Ali Youssouf)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจิบูตี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

๓.  ข้อมูลเพิ่มเติม

     ๓.๑  จิบูตีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เนื่องจากที่ตั้งของจิบูตีอยู่บนเส้นทางการเดินเรือและเป็นจุดผ่านในการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากอ่าวอาหรับและอ่าวเปอร์เซียไปยังคลองสุเอซและแหลม Good Hope ของแอฟริกาใต้ ท่าเรือของจิบูตีจึงเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าและบริการที่จะกระจายเข้าสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลในอนุภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออก

     ๓.๒  จิบูตีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบทบาทต่อปัญหาความขัดแย้งในโซมาเลีย จิบูตีเป็นผู้จัดการประชุมของกลุ่มต่าง ๆ ในโซมาเลีย เมื่อปี ๒๕๔๓ และเมื่อปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์โซมาเลีย (Transitional Federal Government-TFG) ชุดที่มีนายชีค ชารีฟ ชีค อาห์เหม็ด (Sheikh Sharif Sheikh Ahmed) เป็นประธานาธิบดี และในเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ จิบูตีได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน ๔๕๐ นาย เข้าร่วมภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย (African Union Mission in Somalia - AMISOM) ร่วมกับยูกันดาและบุรุนดี

      ๓.๓  จิบูตีมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมากแก่จิบูตี และมีฐานทัพอยู่ในจิบูตี รัฐบาลจิบูตีมีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ จิบูตียังอนุญาตให้เรือรบประเทศต่าง ๆ เข้ามาในเขตเดินเรือของตนเอง เพื่อปฏิบัติการลาดตระเวนปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย