ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 945 view

อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยในปีนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ Dr. John R. MacArthur ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ผู้แทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ Dr. Taraneh Shojaei ที่ปรึกษาประจำภูมิภาคด้านความร่วมมือสาธารณสุข สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ผู้แทนอุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีดังต่อไปนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ (Professor Dr. Valentin Fuster) จากสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ มีผลงานโดดเด่นในการศึกษาวิจัยบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งองค์ความรู้นี้มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด

ผลงานของศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฟัสเตอร์ ในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐานไปต่อยอดจนกระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ได้ช่วยทำให้อัตราการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตในผู้ป่วยทั่วโลกลดลงอย่างมาก และยังช่วยพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันนับล้านคนทั่วโลก

สาขาสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Dr. Bernard Pécoul) จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative - DNDi) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาย่อมเยา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย องค์กรดังกล่าวมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคที่ถูกละเลยที่มีประสิทธิภาพ ๘ วิธี สำหรับรักษาโรคมาลาเรีย โรคเหงาหลับ โรคพยาธิสภาพกับอวัยวะภายใน และโรคชากาส โดยยาเหล่านี้ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นยารักษาชนิดแรกสำหรับโรคที่ถูกละเลย และถูกบรรจุให้เป็นแนวทางในการรักษาโรคที่ถูกละเลยในหลายประเทศ นอกจากนี้ นายแพทย์พีคูลเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières - MSF) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย

ผลงานของนายแพทย์พีคูลมีส่วนสำคัญในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรนับล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้น้อย ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ถูกละเลย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ