ความสัมพันธ์ ไทย-เอริเทรีย

ความสัมพันธ์ ไทย-เอริเทรีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2567

| 10,892 view

ความสัมพันธ์ไทย-เอริเทรีย

 

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ประเทศไทยกับรัฐเอริเทรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ รัฐเอริเทรีย สาธารณรัฐจิบูตี และสาธารณรัฐซูดาน ในขณะที่ฝ่ายเอริเทรียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตรัฐเอริเทรียประจำสาธารณรัฐอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และได้แต่งตั้งนายสุนทร เก่งวิบูล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์รัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย

1.1 การเมือง

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศไทยกับรัฐเอริเทรียดำเนินไปอย่างราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดนัก

1.2 การค้า

ในปี 2566 ประเทศไทยและรัฐเอริเทรียมีมูลค่าการค้ารวม 7.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 325.10 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 7.61 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 0.02 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า
7.59 ล้านบาท

รัฐเอริเทรียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 53 ของประเทศไทยในภูมิภาคแอฟริกา รัฐเอริเทรียยังเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 220 ของประเทศไทยในโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยไปรัฐเอริเทรีย ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) ผลิตภัณฑ์ยาง (3) เคมีภัณฑ์ (4) ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ (5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

รัฐเอริเทรียยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 51 ของประเทศไทยในภูมิภาคแอฟริกาและเป็นแหล่งนำอันดับที่ 242 ของไทยในโลก สินค้านำเข้าที่สำคัญจากรัฐเอริเทรียที่สำคัญ ได้แก่ (1) สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และ (2) สิ่งพิมพ์

1.3 การลงทุน

ไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

1.4 การท่องเที่ยว

ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเอริเทรียเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 567 คน

1.5 ความร่วมมือทางวิชาการ

ความร่วมมือส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นและทุนปริญญาโทตั้งแต่ปี 2553 เอกอัครราชทูตรัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี ได้เข้าพบอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อขอรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและการศึกษา เนื่องจากรัฐเอริเทรียยังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เปิดสอนเฉพาะในระดับปริญญาตรี จึงต้องการพัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา และสนับสนุนให้นักศึกษาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศมากขึ้น

ที่ผ่านมา ชาวเอริเทรียได้รับคัดเลือกให้รับทุนฝึกอบรมระยะสั้นและทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในหลายสาขา เช่น การฝึกอบรมหลักสูตร Sustainable Tourism Management หลักสูตร Sustainable Agriculture and Food Security หลักสูตร Sufficiency Economy in Agriculture หลักสูตร Grassroots Economic Development followed Sufficiency Economy Philosophy หลักสูตร Advanced  Workshop : Diplomatic Skills for Official and Business Applications ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตร Science Program in Systems Agriculture ทุนการศึกษาปริญญาโทหลักสูตร Master of Arts in Diplomacy and International Studies

 

2. ความตกลงที่สำคัญ

ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการจัดทำความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจทวิภาคีระหว่างกัน

 

3. การเยือนที่สำคัญ

3.1 ฝ่ายไทย  

ยังไม่ปรากฏการเยือนรัฐเอริเทรียของฝ่ายไทย

3.2 ฝ่ายเอริเทรีย

การเยือนระดับรัฐบาล

- วันที่ 6 - 11 สิงหาคม 2552 นายอาเลม เซฮาเย โวลเดมาริอัม (Alem Tsehaye Woldemariam) เอกอัครราชทูตรัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งและได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 นายเซฮาเย ฟาสซิล ออกแบสกี (Tsehaye Fassil Ogbaezgi) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศรัฐเอริเทรียเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการบัวแก้วสัมพันธ์ จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

4. ข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงของสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดการณ์ว่า รัฐเอริเทรีย มีศักยภาพในการทำประมงได้ถึงปีละ 70,000 ตัน เนื่องจากรัฐเอริเทรียมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,000 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่กว่า 52,000 ตารางกิโลเมตร โดยสามารถมีผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อาทิ ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาฉลาม ปลาทู และกุ้ง ได้เป็นจำนวนมาก

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเอริเทรียซึ่งตั้งอยู่บริเวณจะงอยแอฟริกามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั้งทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของการเดินเรือที่สำคัญก่อนเข้าไปยังคลองสุเอช และยุโรป จึงทำให้ประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน พยายามเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะในปัจจุบัน จีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอริเทรียได้เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงท่าเรือ ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาให้เอริเทรียเป็นจุดสำคัญด้านคมนาคม และการขนส่งทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศชายฝั่งทะเลแดงได้

************