ความสัมพันธ์ ไทย-ซูดาน

ความสัมพันธ์ ไทย-ซูดาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2567

| 16,187 view

ความสัมพันธ์ไทย-ซูดาน

 

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ประเทศไทยและสาธารณรัฐซูดานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 ฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐจิบูตี และรัฐเอริเทรีย นอกจากนี้ เมื่อปี 2559 รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้นายอะห์มัด บาเชียร์ เอลเนอเฟดี (Ahmed Bashir Elnefeidi) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม ในขณะที่ฝ่ายซูดานได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซูดานประจำมาเลเซียมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

1.1 การเมือง

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐซูดานเป็นไปด้วยความราบรื่นและฝ่ายซูดานได้ให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วยดีตลอดมา

1.2 การค้า

ในปี 2566 สาธารณรัฐซูดานเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 32 มีปริมาณการค้ารวม 24.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงร้อยละ 73.16 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีมูลค่าการส่งออก 23.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าเท่ากับ 21.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) ผ้าผืน (3) ผลิตภัณฑ์ยาง (4) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ (5) เคมีภัณฑ์

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากสาธารณรัฐซูดาน ได้แก่ (1) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (2) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (3) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (4) นาฬิกาและส่วนประกอบ และ (5) สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์

1.3 การลงทุน

ระหว่างปี 2546 - 2554 บริษัทเอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (Engineering and Service Company Limited: EGCO) โดยบริการด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสัญญาว่าจ้างจากรัฐบาลซูดานจำนวน 4 ฉบับ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ให้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าและฝึกอบรมบุคลากรของการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐซูดาน (National Electricity Corporation of Sudan: NEC)

1.4 การท่องเที่ยว

ปี 2566 ชาวซูดานเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 3,442 คน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปสาธารณรัฐซูดาน

1.5 ความร่วมมือทางวิชาการ

ประเทศไทยและสาธารณรัฐซูดานมีความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคี โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐซูดานนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาในด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ สาธารณสุข การศึกษาและการท่องเที่ยว

 

2. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างกัน

 

3. การเยือนที่สำคัญ

3.1 ฝ่ายไทย

ไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนสาธารณรัฐซูดานของฝ่ายไทย

3.2 ฝ่ายซูดาน

การเยือนระดับรัฐบาล

- วันที่ 13 - 16 สิงหาคม 2549 นาย Lam Akol Ajawin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐซูดาน เยือนประเทศไทย

 

4. ข้อมูลเพิ่มเติม

4.1 ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 ได้เกิดการชุมนุมของประชาชนในสาธารณรัฐซูดาน เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาขนมปัง 3 เท่า และต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาการทุจริตของรัฐบาล โดยการชุมนุมดังกล่าวได้บานปลายเป็นการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 พลเอก Awad Mohamed Ahmed Ibn Auf รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกสาธารณรัฐซูดานได้ทำรัฐประหาร และยึดอำนาจจากพลโท โอมาร์ อัล-บาซีร์ (Omar al-Bashir) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐซูดานซึ่งดำรงตำแหน่งมานาน 30 ปี และต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 พลเอก Auf ได้ประกาศลาออก เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง เนื่องจากเห็นว่า พลเอก Auf เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากอดีตประธานาธิบดี al-Bashir โดยพลโท อับดุลฟัตตาห์ อับดุลเราะฮ์มาน เบอร์ฮาน ผู้มีบุคลิกประนีประนอมและเป็นผู้ที่รับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงได้ขึ้นทำหน้าที่หัวหน้าคณะรัฐประหารแทน ทั้งนี้สถานการณ์เริ่มมีพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและกองทัพสามารถตกลงกันได้ที่จะจัดตั้งสภาอธิปไตย (Sovereign Council) ทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราว โดยสภาฯ จะมีอายุ 3 ปี สมาชิก 11 คน ประกอบด้วยพลเรือนจำนวน 6 คน และทหารจำนวน 5 คน และได้แต่งตั้งให้นายอับดุลเลาะฮ์ ฮัมดูก (Abdalla Hamdok) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐซูดานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นายฮัมดูก เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งแอฟริกาของสหประชาชาติ ทำให้ชาวซูดานมีความหวังว่า สาธารณรัฐซูดานจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 พลโท อับดุลฟัตตาห์ อับดุลเราะฮ์มาน เบอร์ฮาน ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลและได้ปลดนายอับดุลเลาะห์ ฮัมดูก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐซูดาน และสมาชิกคณะรัฐมนตรี
สาธารณรัฐซูดาน ออกจากตำแหน่ง

4.2 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อสาธารณรัฐซูดานตั้งแต่ปี 2540 ตามคำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ 13067 และเพิ่มเติมในปี 2549 ตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 13412 โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลสาธารณรัฐซูดานมีนโยบายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติและขัดขวางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายสากล บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน และละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยกเลิกการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นผลให้บุคคลและบริษัทซูดานรวม 157 บุคคล/บริษัท พ้นจากบัญชีรายชื่อ Specially Designated Nationals and Blocked Persons (SDN List) ของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า สาธารณรัฐซูดานมีพัฒนาการที่ดีในการลดความขัดแย้งและความรุนแรงในประเทศ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคและต่อต้านการก่อการร้าย ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 สหรัฐฯ ได้ถอดสาธารณรัฐซูดานออกจากบัญชีรายชื่อของประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้าย (State Sponsors of Terrorism: STT)

4.3 สาธารณรัฐซูดานให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาชาวไทยมุสลิมปีละประมาณ 80 - 100 ทุน เป็นประจำทุกปี ทำให้มีนักศึกษาชาวไทยมุสลิมในซูดานกว่า 500 คน (มากเป็นอันดับที่ 2 ในทวีปแอฟริการองจากสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งมีนักศึกษาไทยมุสลิมประมาณ 3,000 คน) นักศึกษาไทยนิยมไปศึกษาด้านศาสนาอิสลามที่ซูดาน เนื่องจากมีแนวทางการสอนศาสนาอิสลามแบบสายกลาง ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาในการเรียนการสอนและมีอัตราค่าครองชีพในประเทศที่ไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

************