ความสัมพันธ์ ไทย-จิบูตี

ความสัมพันธ์ ไทย-จิบูตี

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ต.ค. 2567

| 12,998 view

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย-จิบูตี

 

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ประเทศไทยกับสาธารณรัฐจิบูตีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 โดยฝ่ายไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐจิบูตี สาธารณรัฐซูดาน และรัฐเอริเทรีย ขณะที่ฝ่ายจิบูตีได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจิบูตีประจำประเทศญี่ปุ่นมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ปัจจุบัน นายฮงค์ฑัย แซ่ตัน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐจิบูตีประจำประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างการประสานขอรับสัญญาบัตรตราตั้ง (ฉบับจริง) จากฝ่ายสาธารณรัฐจิบูตี

1.1 การเมือง     

ปัจจุบัน ประเทศไทยและสาธารณรัฐจิบูตีมีความสัมพันธ์ด้านการเมืองดำเนินเป็นไปด้วยความราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด

1.2 การค้า

ในปี 2566 ประเทศไทยและสาธารณรัฐจิบูตีมีมูลค่าการค้ารวม 22.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 37.27 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 0.046 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 22.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าเท่ากับ 22.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สาธารณรัฐจิบูตีเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 26 ของประเทศไทยในภูมิภาคแอฟริกา สาธารณรัฐจิบูตีเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 132 ของประเทศไทยในโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยไปสาธารณรัฐจิบูตี ได้แก่ (1) เม็ดพลาสติก (2) เคมีภัณฑ์ (3) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4) ผลิตภัณฑ์เซรามิก และ (5) แก้วและกระจก

สาธารณรัฐจิบูตีเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 44 ของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา และยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 197 ของประเทศไทยในโลก สำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญของสาธารณรัฐจิบูตี ได้แก่ (1) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (2) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (3) สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
และ (5) สิ่งพิมพ์

1.3 การลงทุน

ไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐจิบูตี

1.4 การท่องเที่ยว

ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวจิบูตีเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 69 คน และไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปสาธารณรัฐจิบูตี

1.5 ความร่วมมือทางวิชาการ

ประเทศไทยและสาธารณรัฐจิบูตีมีความร่วมมือทางวิชาการโดยประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของสาธารณรัฐจิบูตี สาขาความร่วมมือในกรอบนี้ครอบคลุม ด้านการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข การขจัดความยากจน
การพัฒนาที่ยั่งยืน

1.6 ความช่วยเหลือจากเหตุการณ์ภัยแล้ง

เมื่อปี 2554 สาธารณรัฐจิบูตีเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ที่ประสบภัยแล้ง โดยมีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 1 แสนคน รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในบริเวณดังกล่าว ซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐจิบูตีด้วย     

 

2. ความตกลงที่สำคัญ

2.1 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจิบูตี (ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547)

2.2 ความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจิบูตี (ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547)

 

3. การเยือนที่สำคัญ

3.1 ฝ่ายไทย

ไม่ปรากฏการเยือนสาธารณรัฐจิบูตีของฝ่ายไทย

3.2 ฝ่ายจิบูตี

การเยือนระดับรัฐบาล

- วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม 2547 นายอิสมาอีล โอมาร์ เกเลห์ (Ismaïl Omar Guelleh) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจิบูตี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ณ พระราชวังไกลกังวล

- วันที่ 7 - 11 มิถุนายน 2547 นายอาลี อับดี ฟาราห์ (Ali Abdi Farah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจิบูตี นำคณะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547

- วันที่ 12 - 15 สิงหาคม 2551 นายมาห์หมุด อาลี ยูซุฟ (Mahmoud Ali Youssouf)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจิบูตี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

 

4. ข้อมูลเพิ่มเติม

4.1 จุดยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์นานาชาติของสาธารณรัฐจิบูตี

สาธารณรัฐจิบูตีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เนื่องจากที่ตั้งของสาธารณรัฐจิบูตีอยู่บนเส้นทางการเดินเรือและเป็นจุดผ่านในการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากอ่าวอาหรับและอ่าวเปอร์เซียไปยังคลองสุเอซและแหลม Good Hope ของแอฟริกาใต้ ท่าเรือของสาธารณรัฐจิบูตีจึงเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าและบริการที่จะกระจายเข้าสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลในอนุภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออก

สาธารณรัฐจิบูตีมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมากแก่ฝ่ายจิบูตี และมีฐานทัพอยู่ในสาธารณรัฐจิบูตี รัฐบาลจิบูตีมีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ สาธารณรัฐจิบูตียังอนุญาตให้เรือรบประเทศต่าง ๆ เข้ามาในเขตเดินเรือของตนเองเพื่อปฏิบัติการลาดตระเวนปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย

4.2  ความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐจิบูตีและสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย

สาธารณรัฐจิบูตีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบทบาทต่อปัญหาความขัดแย้งในสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย ฝ่ายจิบูตีเป็นผู้จัดการประชุมของกลุ่มต่าง ๆ ในโซมาเลีย เมื่อปี 2543 และเมื่อปี 2551 - 2552 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์โซมาเลีย (Transitional Federal Government: TFG) ชุดที่มีนายชีค ชารีฟ ชีค อาห์เหม็ด (Sheikh Sharif Sheikh Ahmed) เป็นประธานาธิบดี
และในเดือนธันวาคม 2554 สาธารณรัฐจิบูตีได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน 450 นาย เข้าร่วมภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย (African Union Mission in Somalia: AMISOM) ร่วมกับสาธารณรัฐยูกันดาและสาธารณรัฐบุรุนดี

************