ความสัมพันธ์ ไทย-อียิปต์

ความสัมพันธ์ ไทย-อียิปต์

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2567

| 29,309 view

ความสัมพันธ์ไทย-อียิปต์

 

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

  • ประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2497 โดยสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาหรับประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย (ในปี 2567 ครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต) ที่ผ่านมาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ดำเนินมาอย่างราบรื่น และขยายตัวตามลำดับ
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐจิบูตี และรัฐเอริเทรีย (รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร คนใหม่) ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชา ปัจจุบัน นางฮาละฮ์ ยูซุฟ อะห์มัด เราะญับ (Hala Youssef Ahmed Ragab) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย โดยได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอักษรสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 สืบแทนนายมุศเฏาะฟา มะฮ์มูด มุศเฏาะฟา เอลกูนี (Mr. Moustapha MahmoudMoustapha Elkouny) ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง
  • สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นหนึ่งในมิตรประเทศสำคัญที่ไทยได้ขอรับความช่วยเหลือในกรณีการจับตัวประกันคนไทยจากเหตุความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รอบล่าสุด ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์และพบหารือนายซามิห์ ฮัสซัน ชุกรี (Sameh Hassan Shoukry) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อขอรับการสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา 

1.1 การเมือง

กลไกปรึกษาหารือทวิภาคีประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์มีกลไกความร่วมมือระดับทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่

(1)การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับอียิปต์ (Thai - Egyptian Joint Commission) ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีการประชุมแล้ว 2 ครั้ง ที่กรุงไคโร เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในปี 2567

(2) การประชุมปรึกษาหารือทางการเมือง (Political Consultations) ในระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีหรือรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยล่าสุด ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร

1.2 การค้า

ในปี 2566 สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์จัดเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและอันดับที่ 5 ในภูมิภาคแอฟริกา โดยมีมูลค่าการค้ารวม 725.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 666.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 58.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 607.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้และผลิตภัณฑ์ยาง
สินค้านำเข้าที่สำคัญจากสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

โอกาสทางการค้า สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นตลาดที่มีศักยภาพในแอฟริกาตอนเหนือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 105 ล้านคน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) และมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic Area) ของการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรปผ่านคลองสุเอซ(Suez Canal) รวมทั้งมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าสู่แอฟริกาตอนเหนือ แอฟริกาตอนกลาง (โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล)ตะวันออกกลาง และเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ยังมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศสำคัญ ๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีภูมิภาคแอฟริกา (African Continental Free Trade Area: AfCFTA)ความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (Egypt - EU Partnership Agreement) ความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (Pan Arab Free Trade Agreement / Greater Arab Free Trade Agreement: GAFTA) และการเป็นสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA) รวมถึงการจัดทำข้อตกลง Qualified Industrial Zones (QIZ) กับสหรัฐอเมริกาด้วย

คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527 ต่อมา เมื่อปี 2560 ฝ่ายไทยเสนอให้มีการจัดประชุม JTC ระหว่างไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ครั้งที่ 1 (ระดับรัฐมนตรี) เพื่อเป็นเวทีในการหารือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Memorandum of Understanding on the Establishment of the Joint Trade Committee) และร่างแผนการดำเนินงานร่วมทางด้านเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (Joint Action Plan for Economic Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Arab Republic Egypt) ปัจจุบัน ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อขออนุมัติการลงนามร่างเอกสารทั้งสองฉบับจากคณะรัฐมนตรี

1.3 การลงทุน

ปัจจุบันมีบริษัทไทยที่สำคัญเข้าไปลงทุนในสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ได้แก่บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (Indorama Vetures Public Company Limited) (พอลิเมอร์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก) บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส จำกัด (พลังงาน) (PTT Energy Resources Company Limited) และกลุ่มโรงแรมเครือดุสิตธานี (โรงแรม) ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัท ไฮ- เทคแอพพาเรล จำกัด(Hi-Tech Apparel Co., Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสิ่งทอรายใหญ่ของไทยและมีลูกค้ารายใหญ่คือบริษัท Nike ได้ลงนามในสัญญาจัดตั้ง
โรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษคลองสุเอซ (Suez Canal Special Economic Zone: SCZONE) ของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างโอกาสการจ้างงานในพื้นที่กว่า 4,000 ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทำการผลิตได้ในช่วงกลางปี 2568 อนึ่ง ในเดือนมิถุนายน 2567 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีกำหนดจัดโครงการนำนักธุรกิจและภาคเอกชนของสาธารณรัฐอียิปต์เยือนไทยเพื่อขยายลู่ทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า ระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐของไทย โดยกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างกัน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ประมง และพลังงาน

โอกาสทางการลงทุน รัฐบาลอียิปต์ดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศการดึงดูดเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC)และกลุ่มประเทศยุโรป การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเพื่อเพิ่มการส่งออก โดยมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ General Authority for Investment and Free Zones (GAFI) ควบคู่กับการใช้งบประมาณดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ (New Cairo) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การที่สาธารณรัฐอียิปต์ยังมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค กอปรกับมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากจึงทำให้สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคแอฟริกา

1.4 การศึกษา

สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามอันดับต้นของโลกมุสลิมโดยมีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเป็นจุดมุ่งหมายทางการศึกษาในสาขาวิชาศาสนาที่นิยมของนักศึกษาไทยมุสลิม ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยกำลังศึกษาอยู่ในสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประมาณ 2,800 คน โดยส่วนใหญ่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัรในสาขาวิชาอิสลามศึกษา ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร จัดสรรทุนการศึกษาในสาขาวิชาศาสนาให้แก่นักศึกษาไทยมุสลิมผ่านความร่วมมือกับสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และตั้งแต่ปี 2565 ยังได้ขยายทุนการศึกษาไปยังสาขาวิชาสามัญด้วย ทั้งนี้ ล่าสุดในปี 2566 รัฐบาลสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ได้พิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย จำนวน 160 ทุน แบ่งเป็นทุนในสาขาวิชาด้านศาสนาจำนวน 109 ทุน และสาขาวิชาสามัญ จำนวน 51 ทุน นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามของประเทศไทยหลายแห่งยังมีความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) โดยการจัดส่งครูมาสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดโครงการปฐมนิเทศนักศึกษาที่ได้รับทุนของมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัรเป็นประจำทุกปี เพื่อแนะแนวเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาไทยที่จะศึกษาต่อในสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้บริจาคเงินปีละ 1 ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ผ่านผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Grand Imam Sheikh of Al-Azhar) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและดูแลสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยด้วยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันด้วย

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจมาตรฐานว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการเเละการศึกษากับมหาวิทยาลัย American University in Cairo (AUC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา การวิจัย ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ เเละเเลกเปลี่ยนนักศึกษาเเละบุคลากรด้านการศึกษาระหว่างกัน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ผู้แทนสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางไปราชการ ณ กรุงไคโร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการและการสอนภาษาอาหรับกับมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮัรผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าการจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับระหว่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้กับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร (อยู่ระหว่างการเจรจาเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจฯ) รวมทั้งหารือประเด็นการรับรองวิทยฐานะประกาศนียบัตรอิสลามศึกษาตอนปลายของนักศึกษาไทย พร้อมเยี่ยมเยียนนักศึกษาไทยมุสลิมที่อยู่ระหว่างศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

1.5 การท่องเที่ยว

ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวอียิปต์เดินทางมาประเทศไทย ประมาณ 14,000 คน และจากข้อมูลในปี 2565 มีชาวไทยเดินทางไปสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์จำนวน 24,290 คน โดยก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายการบินอียิปต์แอร์ (Egypt Air) มีเที่ยวบินตรงมายังกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปัจจุบัน ฝ่ายอียิปต์อยู่ระหว่างการพิจารณากลับมาเปิดเส้นทางบินตรงกรุงไคโร - กรุงเทพมหานครอีกครั้ง

1.6 ความร่วมมือทางวิชาการ

เมื่อเดือนมกราคม 2567 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมร่วมกับนาย Ashraf Momtaz ตำแหน่งหัวหน้าส่วนงานความร่วมมือเอเชียเพื่อการจัดอบรม (Training Program Asian Cooperation Sector) กระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Ministry of International Cooperation: MOIC) โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการจัดฝึกอบรม (tailor made) ให้แก่ผู้รับทุนชาวอียิปต์ในสาขาการท่องเที่ยว การเงินระหว่างประเทศ อาคารสีเขียว การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยฝ่ายอียิปต์แจ้งความประสงค์จะส่งคณะผู้แทนเยือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เพื่อศึกษาดูงานศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของไทยและหารือในรายละเอียดการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมกับฝ่ายไทยต่อไป

1.7 ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี

สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นมิตรประเทศที่สนับสนุนไทยในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม(Organisationof Islamic Cooperation: OIC) โดยเฉพาะการสะท้อนความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างสมดุลและสร้างสรรค์ในร่างข้อมติของ OIC โดยอียิปต์ได้สนับสนุนร่างถ้อยคำข้อมติตามที่ฝ่ายไทยเสนอด้วยด

 

2. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

ทั้งสองฝ่ายมีความตกลงที่ลงนามแล้ว 11 ฉบับ

1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2519)

2. บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตารางเส้นทางการบินในข้อ 2 ของบันทึกความเข้าใจเรื่องการให้บริการเดินอากาศระหว่างผู้แทนไทยและอียิปต์ ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2518 (ลงนามเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2523)

3. ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527)

4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2530)

5. หนังสือแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531)

6. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2531)

7. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2532)

8. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543)

9. พิธีสารการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546)

10. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2549)

11. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ลงนามเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555)

 

3. การเยือนที่สำคัญฝ่ายไทย

(1) การเยือนระดับพระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) วันที่ 12 - 17 ธันวาคม 2531 เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 17 - 23 มีนาคม 2550 เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

วันที่ 5 – 15 มกราคม 2533 เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

วันที่ 8 – 13 มกราคม 2536 เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

สมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เดือนธันวาคม 2548 เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นการส่วนพระองค์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา นเรนธิราเทพยวดี วันที่ 7 – 14 มกราคม 2554 เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นการส่วนพระองค์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วันที่ 20 – 22 กรกฎาคม 2552 เสด็จเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เป็นการส่วนพระองค์

(2) การเยือนระดับรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี เดือนมีนาคม 2530 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 29 - 30 มกราคม 2546 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย - อียิปต์ ครั้งที่ 1

วันที่ 28 - 30 มกราคม 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย - อียิปต์ ครั้งที่ 2

วันที่ 17 - 18 เมษายน 2550 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

วันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ 15 ซึ่งอียิปต์เป็นเจ้าภาพ

วันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2555 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการ

วันที่ 21 กันยายน 2559 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม Political Consultations ไทย-อียิปต์ ครั้งที่ 5

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อียิปต์ เพื่อผลักดันการให้ความช่วยเหลือและการเจรจาให้ปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันจากสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล-กาซา

รัฐมนตรีกระทรวงอื่น ๆ

วันที่ 10 – 12 พฤษภาคม 2557 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์เพื่อหารือแนวทางให้การช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนไทยในอียิปต์

วันที่ 4 - 9 ธันวาคม 2557 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อร่วมกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอียิปต์

การเยือนของบุคคลสำคัญอื่น ๆ

ปี 2542 นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เยือนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมศาสนาอิสลาม

 

ฝ่ายอียิปต์

(๑) การเยือนระดับรัฐบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ปี 2539 นายอัมร์ มูซา (Amr Moussa) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ เยือนไทย

วันที่ 13 - 15 ตุลาคม 2547 นายเอสซาด ซาอัด (Ezzat Saad) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ฝ่ายกิจการเอเชีย เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

(๒) การเยือนของบุคคลสำคัญอื่น ๆ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2547 เชค อะห์หมัด อัล ตอยยิบ (Sheikh Ahmed Al-Tayeb) อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล

วันที่ 23 - 27 มิถุนายน 2550 นายมูฮัมหมัด ซัยยิด ตันตาวี (Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) (เทียบเท่าระดับนายกรัฐมนตรี) เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล

วันที่ 20 - 25 สิงหาคม 2557 นายอับบาส ชูมาน (Abbas Shoman) รองผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 3 - 9 เมษายน 2560 ศาตราจารย์ ดร. เชาว์กี อิบราฮีม อับเดลการีม โมซา อัลแลม (Shawki Ibrahim Abdelkarim Mosa Allam) ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม (Grand Mufti) ของอียิปต์ เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 5-8 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์อะห์เมด มุฮัมมัด อะห์เมด อัล-ฏอยยิบ (Professor Ahmed Mohamed Ahmed El-Tayeb) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Grand Imam of Al-Azhar) เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในโอกาสครบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์